๑. กรณีเลิกจ้างโดยอ้างเหตุปรับโครงสร้างองค์กร
เป็นข้อยอดนิยมสำหรับนายจ้างยามเศรษฐกิจไม่ดีที่จะเลิกจ้างลูกจ้างอย่างชอบธรรม ซึ่งก็ปรากฏคดีขึ้นสู่ศาลฏีกาเป็นจำนวนมาก และศาลก็ได้กำหนดบรรทัดฐานสำหรับกรณีดังกล่าวไว้ คือ
-การปรับองค์กรโดยลดจำนวนลูกจ้าง จะต้องมาจากเหตุขาดทุนและจะต้องถึงขนาดที่จะไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และการปรับลดจำนวนลูกจ้างนั้นจะต้องเป็นผลโดยตรงที่ช่วยให้กิจการของนายจ้างอยู่รอดหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้
-การขาดทุนกำไร หรือการที่นายจ้างกำไรมาตลอด มีกำไรสะสม แม้ปีต่อมา นายจ้างจะขาดทุนอยู่บ้าง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะอ้างเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างได้
-กรณีที่นายจ้างยุบตำแหน่งบางตำแหน่งลง หรือยุบแผนกอันเนื่องมาจากการปรับโครงสร้าง จึงจำต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ถือเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงภายหลังว่า นายจ้างรับคนอื่นเข้ามาทำงานแทนลูกจ้าง การกระทำเช่นนี้ ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
-การใช้สิทธิเลิกจ้างตามเหตุนี้ นายจ้างจะต้องมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกลูกจ้างที่ไม่เลือกปฏิบัติ มีเหตุผลและเป็นธรรม เช่น ใช้หลักเกณฑ์ดูจากการขาด ลา มา สาย หรือเลือกเลิกจ้างที่มีอายุงานน้อยก่อนเลิกจ้างลูกจ้างที่มีอายุงานมาก เป็นต้น
– ก่อนที่นายจ้างจะใช้สิทธิเลิกจ้าง นายจ้างควรที่จะหามาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมมาแก้ปัญหาก่อน เช่น ลดวัน ชั่วโมงการทำงาน ลดค่าล่วงทำงานล่วงเวลา เป็นต้น
โปรดพิจารณาคำพิพากษาศาลฏีกาด้านล่างนี้ ประกอบ
ฎีกา ๔๗๕๓-๔๗๖๐/๒๕๔๖ นายจ้างมีผลกำไรในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จำนวน ๒๙ ล้านบาทเศษ ในปี ๒๕๔๒และปี ๒๕๔๓ นายจ้างขาดทุน ๒๔๘ ล้านบาทเศษ ระหว่างปี ๒๕๔๑ ถึงปี ๒๕๔๒ นายจ้างรับประกาศอาสาสมัครลาออก ต่อมานายจ้างหยุดประกอบกิจการบางส่วนโดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างร้อยละ ๕๐ ของค่าจ้างปกติและเลิกจ้างลูกจ้าง แสดงว่าในขณะเลิกจ้างลูกจ้าง นอกจากนายจ้างมีผลประกอบการขาดทุนแล้ว แนมโน้มการประกอบกิจการยังไม่ดีขึ้น นายจ้างย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการบริหารจัดการเพื่อให้องค์กรของนายจ้างสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ การเลิกจ้างได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเลิกจ้างพนักงานตามที่กำหนดไว้โดยมิได้กลั่นแกล้งเลิกจ้างคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดโดยเฉพาะเจาะจง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
ฏีกา ๑๘๕๐/๒๕๔๗ นายจ้างประกอบกิจการนำเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวกับการนำเที่ยว เป็นบริษัทจำกัดที่ชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว การที่บริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทนายจ้างจะประกอบกิจการขาดทุนก็ไม่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง แม้ผลประกอบการของนายจ้างจะมีผลกำไรลดน้อยลง แต่ก็คงมีกำไรอยู่ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่างานของนายจ้างลดลงมากหรือประสบกับการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายและลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงฐานะของนายจ้างให้อยู่รอด การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายนั้น จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุผลอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
๒ กรณีเลิกจ้างตามข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน
ในกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาจ้างแรงงานไว้เป็นหนังสือตั้งแต่เริ่มจ้าง หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างอันเนื่องมาจากลูกจ้างได้ปฏิบัติผิดนัดและหรือผิดสัญญาจ้างแรงงาน หรือเป็นไปตามข้อตกลงของสัญญาแล้ว ถือว่า เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
ฎีกา ๑๒๕๐/๒๕๒๙ สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมีข้อตกลงว่า นายจ้างจ้างทำงานอย่างต่ำ ๑ ปีอย่างสูง ๒ ปี เมื่อครบกำหนด ๑ ปี นายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างทำงานไม่ได้ผลตามความมุ่งหมายของสัญญาจ้าง ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ฎีกา ๒๕๘/๒๕๔๕ และ ๓๔๗๑/๒๕๔๕ นายจ้างลูกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง โดยไม่ได้กลั่นแกล้งลูกจ้าง ถือเป็นการเลิกจ่างที่มีเหตุอันสมควร ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
๓. กรณีลูกจ้างทำงานไม่ได้มีประสิทธิภาพ
๓.๑ กรณีลูกจ้างทำงานบกพร่องต่อหน้าที่ หากลูกจ้างทำงานที่บกพร่องหลายครั้ง นายจ้างตักเตือนแล้วยังทำงานบกพร่องซ้ำอีก นายจ้างย่อมมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โปรดพิจารณาคำพิพากษาศาลฏีกาประกอบ
ฏีกา ๔๙/๒๕๔๙ การที่ลูกจ้างส่งเงินค่าผ่านทางขาดมาก่อนเป็นประจำ ผู้บังคับบัญชาตักเตือนแล้วไม่ดีขึ้น ลูกจ้างยังคงส่งเงินค่าผ่านทางขาดอีกหลายครั้งก่อนที่จะเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยโจทก์แล้วย่อมมีเหตุอันสมควรที่จะนายจ้าง จะไม่ไว้วางใจให้ลูกจ้างทำงานเป็นนพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทาง
ฎีกา ๖๘๔๐/๒๕๔๔ ลูกจ้างไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ทำงานบกพร่องหลายครั้ง ผู้บังคับบัญชาเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้นและมีสินค้าส่งคืนมาหลายครั้ง ทำให้นายจ้างได้รับเสียหาย ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
๓.๒ กรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้
โปรดพิจารณาฏีกาด้านล่างนี้ประกอบ
ฎีกา ๖๘๐๔/๒๕๔๔ นายจ้างให้การต่อสู้ว่า เนื่องจากลูกจ้างขัดคำสั่งของนายจ้างเป็นประจำ สร้างความกดดันให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน เป็นเหตุให้คุณภาพงานต่ำ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลว่า ลูกจ้างไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ ทำงานตรวจคุณภาพบกพร่องหลายครั้ง ผู้บังคับบัญชาเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้น มีลูกค้าส่งสินค้าคืนมาหลายครั้ง ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาประกอบการวินิจฉัยว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมหรือไม่ได้
๓.๓ กรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ่าง
ฎีกา ๒๖๗๑/๒๕๒๗ นายจ้างได้ตรวจสุขภาพของลูกจ้างแล้วพบว่า ลูกจ้างมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ประการหนึ่งและลูกจ้างมีผลงานไม่ดี ไม่เอาใจใส่ต่องานและติดตามตรวจสอบผลงาน สามารถหาคนแทนได้ อีกประการหนึ่ง ซึ่งทั้งสองประการเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างที่จะให้ลูกจ้างออกจากงานด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ถือไม่ได้ว่า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ผู้เขียนพยายามสรุปให้เห็นถึงบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาได้วางไว้สำหรับการพิจารณาเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในแต่ละสถาณการณ์ ว่า เป็นอย่างไรพร้อมอ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาแบบคัดย่อ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจง่าย กล่าวโดยสรุปคือ หากนายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างลูกจ้างให้เป็นธรรมแล้ว จะต้องมีเหตุผลในการเลิกจ้าง ซึ่งเหตุผลนั้นจะต้องถึงขนาดที่เลิกจ้างได้ และหรือเหตุผลดังกล่าวนั้นเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน ระเบียบ คำสั่ง หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน มีพยานหลักฐานชัดเจน และต้องไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฏหมาย
ความเห็นล่าสุด