การที่ลูกจ้าง (เอกชน) คนใดคนหนึ่งต้องออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุ ผู้เขียนฟันธงได้เลยว่า ถือเป็นกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจากนายจ้าง ซึ่งเหตุการเกษียณอายุนี้ถือเป็นเหตุของการเลิกจ้างประเภทหนึ่งซึ่งนายจ้างจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
เกษียณอายุคืออะไร เมื่อพิจารณาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้คำอธิบายคำว่า เกษียณอายุ หมายถึง ครบกำหนดอายุรับราชการ หรือสิ้นกำหนดเวลารับราชการ ดังนั้น การที่บรรดานายจ้างได้กำหนดการเกษียณอายุเป็นเหตุ ๆ หนึ่งแห่งการเลิกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน น่าจะเป็นการนำการครบกำหนดอายุรับราชการตามกฎหมาย (๖๐ ปี) มาเป็นการครบอายุตามสัญญาจ้างแรงงานเช่นกัน
การเกษียณอายุของลูกจ้างในกิจการของเอกชน นายจ้างโดยทั่วไปมักจะกำหนดอายุหกสิบปีบริบูรณ์เป็นการครบกำหนดอายุของสัญญาจ้างแรงงาน แต่ก็มิได้หมายความว่านายจ้างจะกำหนดเวลาเกษียณอายุเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นายจ้างอาจจะกำหนดอายุ ๕๕ ปี หรือ๖๕ ปี เป็นกำหนดเวลาเกษียณอายุของลูกจ้างก็ได้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อกฎหมายห้ามไว้ หากไม่มีกำหนดอายุของลูกจ้างที่จะทำให้สิ้นสุดสัญญาไว้เลย ก็คงจะไม่ยุติธรรมกับลูกจ้างนัก เพราะลูกจ้างคงจะต้องทำงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถูกนายจ้างเลิกจ้างเอง หรือทำงานไม่ไหวจนกระทั่งลาออกไปเลย
การเกษียณอายุในทางแรงงานก็มักจะเกิดปัญญาในการตีความในทางกฎหมายหลายประการ ดังนี้
- การกำหนดเวลาเกษียณอายุของลูกจ้าง นายจ้างอาจกำหนดออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
- กำหนดเวลาเกษียณอายุให้แตกต่างกันตามประเภทงาน เนื่องจากกิจการบางประเภทมีลักษณะการทำงานของลูกจ้างแตกต่างกันชัดเจน กรณีนี้ นายจ้างสามารถกระทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานแต่อย่างใด
- กำหนดระยะเวลาเกษียณอายุให้แตกต่างกันเนื่องจากเพศของลูกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๕ บัญญัติว่า ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะและสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่นายจ้างจะกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุให้ลูกจ้างชายหญิงแตกต่างกันจึงไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตราดังกล่าว
- การกำหนดระยะเวลาเกษียณลูกจ้างไว้ ไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เนื่องจากในระหว่างระยะเวลาการจ้างแรงงานนั้น นายจ้างและลูกจ้างต่างก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้ตลอดเวลา โดยการบอกกล่าวล่วงหน้า กล่าวคือ ลูกจ้างสามารถยื่นใบลาออกได้ หรือนายจ้างสามารถเลิกลูกจ้างได้เช่นกัน ดังนั้น การที่ลูกจ้างจะทำงานจนครบกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุหรือไม่จึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน กำหนดะระยะเกษียณอายุของนายจ้างจึงไม่ทำให้สัญญาจ้างแรงงานกลายเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน การเลิกจ้างเพราะการเกษียณอายุของนายจ้างจึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
- นายจ้างไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุโดยลำพังได้ เนื่องจากกำหนดระยะเวลาเกษียณอายุถือเป็นเหตุหนึ่งของการเลิกจ้าง จึงถือเป็นสภาพการจ้างตามกฎหมายแรงงานด้วย หากนายจ้าง เปลี่ยนแปลงโดยมีลักษณะย่นระยะเวลาเกษียณอายุเข้ามา ลูกจ้างคงเหลือกำหนดระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง หากไม่ได้รับความยินยอมของลูกจ้างก่อน ย่อมไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง
๔. การเลิกจ้างเนื่องจากลูกจ้างครบกำหนดเกษียณอายุ เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม เพราะถือเป็นการเลิกจ้างที่ใช้บังคับกับลูกจ้างทุกคนโดยทั่วไป ซึ่งใช้อายุของลูกจ้างเป็นตัวกำหนด เนื่องจากอายุของลูกจ้างทุกคนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเกษียณก็จะสูงวัยแล้ว แม้จะมีข้อยกเว้นสำหรับลูกจ้างบางคนที่นายจ้างอาจจะว่าจ้างต่อไป
๕. การที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงขยายอายุเกษียณ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยทันทีเมื่อลูกจ้างครบกำหนดอายุเกษียณตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ศาลฎีกาได้วางบรรดทัดฐานไว้สำหรับกรณีนี้ว่า หากยินยอมให้นายจ้างยกข้ออ้างว่า ได้ตกลงกับลูกจ้างขยายอายุเกษียณออกไปแล้ว ย่อมเป็นช่องทางให้นายจ้างหลบเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุได้ โดยทำทีเป็นการจ้างต่อไปจนลูกจ้างทำงานไม่ไหวลาออกไปเอง ดังนั้น กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานต่อไปหลังจากเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแต่ยังคงไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างจึงมีสิทธิเรียกค่าชดเชยและดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันที่ลูกจ้างครบอายุเกษียณตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นต้นไป
แม้ว่าเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๐ได้มีข่าวว่า จะมีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเพิ่มข้อกำหนดให้การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมาย และบังคับให้อายุ ๖๐ ปีเป็นกำหนดอายุเกษียณของลูกจ้าง แต่จนกระทั่งวันที่ผู้เขียนเขียนบทความฉบับนี้ กฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศออกมาบังคับใช้ ดังนั้น แนวทางการพิจารณาเรื่องเกษียณอายุก็ยังคงต้องใช้แนวทางการพิจารณาตามบทความนี้ต่อไป
ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
……………………………………………………………………….
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย
ความเห็นล่าสุด