สหภาพแรงงานมีสภาพเป็นนิติบุคคล การกระทำการใดของสหภาพแรงงานจะต้องกระทำโดยผ่านทางผู้แทน ซึ่งก็คือ กรรมการสหภาพแรงงาน ซึ่งจะถูกคัดเลือกมาจากสมาชิกสหภาพแรงงานนั้น มีสัญชาติไทย และมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี การดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานนั้นจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงานนั้น แต่สหภาพแรงงานไม่สามารถกระทำการค้าได้ และจะเข้าไปเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้
ผู้มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน จะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน หรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน บรรลุนิติภาวะแล้ว และมีสัญชาติไทย จะต้องมีจำนวนลูกจ้างไม่น้อยกว่า ๑๐ คน เป็นผู้เริ่มก่อการ จะต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนแล้ว จึงมีสภาพเป็นนิติบุคคล
กรรมการของสหภาพแรงงานจะได้รับสิทธิพิเศษจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์สามารถลาไปดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานได้โดยไม่ถือเป็นวันลา หากไปในฐานะเป็นตัวแทนลูกจ้างในการเจรจา ไกล่เกลี่ยและชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือไปร่วมประชุมตามที่ราชการกำหนดซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสหภาพแรงงานด้วย การที่กรรมการสหภาพแรงงานจะใช้สิทธินี้ ไม่ใช่ว่า เมื่อเห็นว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดแล้ว คิดจะไปก็ไปได้เลย กรรมการสหภาพแรงงานจะต้องแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาพร้อมแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย หากเป็นการลาใดๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ คณะกรรมการของสหภาพแรงงานจะต้องขอลาไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง
สำหรับคุณสมบัติของบุคคลที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
๑. มีอายุ ๑๕ ปี บริบูรณ์
๒. ต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือถ้าเป็นสหภาพแรงงานรวมอาจมีนายจ้างหลายราย จะต้องเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงาน
๓. ไม่เป็นลูกจ้างชั้นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจในการจ้าง การให้บำเหน็จ หรือลงโทษลูกจ้าง ซึ่งต้องเป็นอำนาจโดยเด็ดขาด มิใช่เป็นเพียงผู้เสนอให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปพิจารณา
แม้กฎหมายจะเขียนห้ามมิให้ลูกจ้างชั้นผู้บังคับบัญชาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่มิใช่ว่าเป็นการห้ามเด็ดขาด เพราะลูกจ้างสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานสำหรับลูกจ้างชั้นบังคับบัญชาแยกต่างหากก็ได้
แต่สมาชิกภาพของสหภาพแรงงงานก็สามารถสิ้นสุดลงด้วยโดยการตาย ลาออก ที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานมีมติให้ออก หรือตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ตัวอย่างเช่น ถ้าข้อบังคับกำหนดไว้ว่า หากสมาชิกขาดส่งค่าบำรุงสหภาพแรงงานติดต่อกันสามงวดก็ให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หากสมาชิกสหภาพแรงงานขาดส่งค่าบำรุงตามที่กำหนดไว้นั้น สมาชิกภาพก็สิ้นสุดลงโดยอัตโนมัติ
สหภาพแรงงานจะต้องดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานเพื่อประโยชน์ของสมาชิกเท่านั้น ดังต่อนี้
- เรียกร้อง เจรจาทำความตกลงและรับทราบคำชี้ขาด หรือทำข้อตกลงกับ
นายจ้าง หรือสมาคมนายจ้างในกิจการของสมาชิกได้
- จัดการและดำเนินกิจการเพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ภายใต้บังคับ
ของวัตถุประสงค์ของสหภาพแรงงาน
- จัดให้มีบริการสารสนเทศเพื่อให้สมาชิกมาติดต่อเกี่ยวกับการจัดหางาน
- จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาหรือขจัดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการ
บริหารงานและการทำงาน
- จัดให้มีการให้บริการเกี่ยวกับการจัดสรรเงินหรือทรัพย์สิน เพื่อสวัสดิการของ
สมาชิกหรือเพื่อสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ตามที่ที่ประชุมใหญ่เห็นสมควร
- เรียกเก็บเงินค่าสมัครสมาชิก และเงินค่าบำรุงตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับ
ของสหภาพแรงงาน
อำนาจของสหภาพแรงงานตามที่ได้กล่าวมานี้ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ สหภาพจะต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกเท่านั้น หากสหภาพไปดำเนินการทำความตกลงใดๆ กับนายจ้าง หากไม่เป็นเพื่อประโยชน์ของสมาชิกเสียแล้ว หรือทำให้สมาชิกเสียประโยชน์เสียแล้ว ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับสหภาพแรงงานจะไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง
การดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานนั้น หากการดำเนินการใดที่อาจมีผลกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมแล้ว การดำเนินกิจการนั้นจะต้องเป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่สหภาพแรงงาน ดังนี้
- แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
- ดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม
- เลือกตั้งกรรมการ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี รับรองงบดุล รายงานประจำปี และ
งบประมาณ
- จัดสรรเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสวัสดิการของสมาชิกหรือเพื่อ
สาธารณประโยชน์
- เลิกสหภาพแรงงาน
- ควบสหภาพแรงงานเข้าหากัน หรือ
- ก่อตั้งสหพันธ์แรงงานหรือเป็นสมาชิกของสหพันธ์แรงงาน
การดำเนินกิจการทั้ง ๗ ข้อนี้ มีเพียงกิจการตามข้อ ๒ ที่คงจะต้องแปลความว่า “ กิจการอัน
อาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกส่วนรวม” คืออะไร ผู้เขียนขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การนัดหยุดงาน การฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกด้วยส่วนรวม เป็นต้น หากสหภาพแรงงานฝ่าฝืนดำเนินไปโดยไม่ผ่านมติที่ประชุมใหญ่แล้ว การกระทำนั้นไม่มีผลผูกพันสมาชิก
การดำเนินกิจการของสหภาพแรงงาน ซึ่งรวมถึงลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงานนั้น เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ดังนั้น จึงได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหา หรือฟ้องอาญาหรือทางแพ่งอีกด้วย หากเป็นการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- เข้าร่วมเจรจาทำความตกลงกับนายจ้าง สมาคมนายจ้าง ลูกจ้าสหภาพแรงงาน
อื่น สหพันธ์นายจ้างหรือสหพันธ์แรงงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ที่สมาชิกควรได้รับ
- นัดหยุดงาน หรือช่วยเหลือ ชักชวนหรือสนับสนุนให้สมาชิกนัดหยุดงาน
- ชี้แจงหรือโฆษณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงาน
- จัดให้มีการชุมนุมหรือเข้าร่วมโดยสงบในการนัดหยุดงาน
ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นความผิดอาญาในลักษณะความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิด
ภยันตรายต่อประชาชน เช่น การวางเพลิง เป็นต้น เกี่ยวกับชีวิตร่างกาย เช่นทำร้ายร่างกาย หรือการฆ่าคนตาย เป็นต้น เกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง เช่น หน่วงเหนี่ยวกักขัง เป็นต้น เกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ หรือ หมิ่นประมาท เป็นต้น และความผิดในทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องการกระทำความผิดทางอาญาในลักษณะดังกล่าว
บทความนี้ เป็นการปูพื้นฐานให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจที่มาที่ไปของสหภาพแรงงาน และได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอย่างไร แต่ก็ยังมีสหภาพแรงงานที่คิดว่า เมื่อได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแล้วจะกระทำอะไรก็ได้ จะปลุกระดมว่ากล่าวนายจ้างอย่างไรก็ได้ ผู้เขียนใคร่อยากจะชี้ให้เห็นว่า การที่สหภาพแรงงานไปกระทำการใดๆ อันเป็นการหมิ่นประมาทนายจ้างนั้น จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และหากตัวแทนของสหภาพแรงงานหากได้ฝ่าฝืนกระทำ อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ง่ายๆ
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย
ความเห็นล่าสุด