สถานประกอบการใดที่มีการว่าจ้างผู้บริหารระดับสูง หรือมีการว่าจ้างชาวต่างชาติมาทำงาน ค่าจ้างมักจะสูง และมักจะได้รับสวัสดิการที่พิเศษกว่าลูกจ้างทั่วไป เช่น จัดให้มีรถประจำตำแหน่งพร้อมคนขับ จัดที่พักให้ (กรณีเป็นการว่าจ้างคนต่างชาติ) นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ประกันชีวิต ประกันภัยต่าง ๆ ให้อีก และแน่นอน การที่นายจ้างยอมลงทุนว่าจ้างขนาดนี้ก็ย่อมหวังว่า ลูกจ้างประเภทนี้จะต้องมีความสามารถพิเศษ หรือเข้ามาช่วยบริหารจัดการ หรือกระตุ้นยอดขายของสถานประกอบการให้ดีขึ้น แต่เพื่อประกันความเสี่ยง นายจ้างมักจะทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือแบบมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน และพิจารณาต่อสัญญากันเป็นครั้ง ๆ ไป

ลูกจ้างท่านใดทำงานได้ตามที่นายจ้างคาดหวังไว้ นายจ้างก็จะต่อสัญญาออกไปเรื่อยๆ  แต่หากนายจ้างเห็นว่า ลูกจ้างท่านใดมีผลงานไม่เป็นที่พอใจ ทำงานได้แต่ไม่เก่งอย่างที่คาดหวังไว้ ดื้อ หรือมี EGO สูง ไม่เชื่อฟังนายจ้าง ซึ่งมักจะชอบใช้คำว่า “ไม่ PERFORM” นายจ้างจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างจะต้องรับผิดชอบชดใช้เงินอะไรให้กับลูกจ้างบ้าง

การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน โดยอ้างว่า ลูกจ้างทำงานไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ PERFORM นี้ ไม่ถือว่า ลูกจ้างได้กระทำความผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดังนั้น บรรดาผลประโยชน์พื้นฐานตามกฎหมายลูกจ้างจะต้องได้รับ ได้แก่

  1. ค่าชดเชย ก็ขึ้นอยู่ว่า ลูกจ้างทำงานมานานเท่าใด โดยเริ่มตั้งแต่ทำงานครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ได้ค่าชดเชยสามสิบวัน จนถึงสูงสุดทำงานครบสิบปี ได้ค่าชดเชยสามร้อยวัน ซึ่งการคิดคำนวณค่าชดเชยจะต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน
  2. สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าการจ่ายค่าจ้างหนึ่งงวด หากนายจ้างประสงค์ให้ลูกจ้างหยุดทำงานต่อไปทันที ก็สามารถจ่ายเป็นค่าจ้างให้แทนได้
  3. ค่าชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างจะต้องพิจารณาก่อนว่า ลูกจ้างคงเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้างกี่วัน และนายจ้างจะต้องจ่ายเป็นเงินแทนเท่ากับค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าว
  4. เงินประกันการทำงาน (ถ้ามี)
  5. กองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุนดังกล่าว
  6. เงินอื่นๆ จะต้องพิจารณาตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกาศ ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้อง เป็นกรณี ๆ ไป

ผลประโยชน์ตาม 1-6 นี้ นายจ้างมักจะจ่ายให้อย่างไม่มีปัญหา เพราะมีความชัดเจนเรื่องข้อกฎหมาย แต่ยังมีผลประโยชน์ก้อนใหญ่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องรอให้ศาลแรงงานเป็นผู้กำหนดแต่เพียงผู้เดียว นั่นก็คือ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หมายถึง “การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ หรือมีสาเหตุอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็น หรือสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างนั้น”

สำหรับเหตุอันสมควรที่นายจ้างมักจะใช้เป็นข้ออ้างประกอบการเลิกจ้าง ก็คือ

  • ลูกจ้างทำงานไม่ได้มาตรฐานเมื่อเทียบกับลูกจ้างในตำแหน่งเดียวกัน
  • ลูกจ้างทำงานขัดนโยบายของนายจ้าง
  • ลูกจ้างไม่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่นายจ้าง ขาดความทุ่มเทในการทำงาน
  • ไม่เข้าร่วมประชุมระดับผู้บริหาร
  • การพัฒนาสินค้า และบริการล้มเหลว
  • ไม่ปฏิบัตินามคำสั่ง หรือคำแนะนำของผู้บริหารระดับสูง
  • ทำยอดขายได้ไม่ถึงเป้าหมาย
  • ขาดความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน
  • อื่นๆ

แต่ละเหตุที่นายจ้างหยิบมาอ้างก็ต่างเป็นเหตุผลที่รับฟังได้ แต่จะถึงขั้นเพียงพอเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ ฟังดูแล้วออกจะเป็นนามธรรม หากนายจ้างไม่สามารถหยิบยกตัวอย่างที่ชัดเจนเพื่ออธิบายประกอบข้ออ้างของตนได้ หรือหากลูกจ้างสามารถยกเหตุผลมาหักล้างได้แล้ว นายจ้างคงเป็นฝ่ายแพ้คดีไป ตัวอย่างเช่น กรณียอดขายสินค้า  แม้ว่า ลูกจ้างจะทำงานในตำแหน่งที่เกี่ยวกับการทำเป้าหมายในการขายสินค้าโดยตรงก็ตาม  แต่หากการที่ยอดขายสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อันเนื่องมาจากปัจจัยอื่นอันมิได้เป็นผลโดยตรงต่อการทำงานของลูกจ้างแล้ว นายจ้างย่อมมิอาจกล่าวอ้างเหตุดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายควรกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในสัญญาจ้างแรงงานไว้ด้วยว่า มีการทำความตกลงให้เหตุดังที่ได้กล่าวไว้เป็นเหตุให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่  หากมีข้อตกลงไว้แล้วนายจ้างเลิกจ้างโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวแล้ว การเลิกจ้างย่อมเป็นธรรมเช่นกัน หรือหากนายจ้างกำหนดขั้นตอนการดำเนินการก่อนการเลิกจ้างไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เช่น จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อน เป็นต้น แล้วนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม  โดยได้เลิกจ้างไปก่อน ก็อาจทำให้การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้

อย่างไรก็ตาม  หากไม่ปรากฏเงื่อนไขในสัญญาจ้างแรงงานแล้ว  เหตุผลสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินว่า ลูกจ้างทำงานได้มาตรฐานหรือไม่นั้น ในท้ายที่สุดก็จะพิจารณาจากการประเมินผลการทำงานประจำปีของลูกจ้างซึ่งนายจ้างเป็นผู้ประเมินเอง โดยการพิจารณานั้นจะต้องพิจารณาติดต่อกันหลายปีว่า ลูกจ้างทำงานอยู่ในมาตรฐานของตัวเองหรือไม่  หากลูกจ้างเพียงทำงานถดถอยลงไปบ้าง แต่ยังถือว่า อยู่ใกล้เคียงกับมาตรฐานปกติของลูกจ้างเอง ไม่ถือว่า ลูกจ้างทำงานไม่ได้มาตรฐาน เช่น นายจ้างแบ่งเกรดการประเมินผลออกเป็นเกรด A , B, C, D และE  โดยเกรด A หมายถึง ยอดเยี่ยม  เกรด B หมายถึง ดีกว่ามาตรฐาน เกรด C หมายถึง ได้ตามมาตรฐาน เกรด D หมายถึง ต้องปรับปรุง  และเกรด E หมายถึง ต้องปรับปรุงทันที หากลูกจ้างถูกประเมินได้เกรด A เป็นส่วนใหญ่  เกรดไม่เคยตกไปที่ D หรือ E และหากปีที่ถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างถูกประเมินได้เพียงเกรด B หากเป็นลักษณะนี้ แล้วนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างย่อมถือว่า เป็นการเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรม

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนอยากให้ท่านผู้อ่านตระหนักถึงคำว่า “เหตุอันสมควร และเพียงพอ” เพราะเป็นหัวใจของคำว่า “เลิกจ้างไม่เป็นธรรม” ซึ่งการนำคำว่า “เหตุอันสมควร และเพียงพอ” ไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องนั้น ค่อนข้างละเอียดอ่อน คงจะต้องอาศัยแนวคำพิพากษาคดีแรงงาน กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาประกอบด้วย

ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์

ที่ปรึกษากฎหมาย