เงินอะไรเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น ยังเป็นปัญหาในวงการแรงงานอยู่ตลอดมา เพราะแต่ละกิจการต่างมีชื่อและรูปแบบการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับลูกจ้างแตกต่างกันออกไป ทั้งๆที่จริงกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดนิยามคำว่าจ้างไว้แล้ว ดังนี้

“ค่าจ้าง” หมายถึง เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด วันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่มีสิทธิได้รับค่าจ้างด้วย

เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาว่า เงินประเภทใดเป็นค่าจ้างหรือไม่ ผู้เขียนจะต้องแยกพิจารณาเป็นองค์ประกอบ ดังนี้

  • ต้องเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเท่านั้น

เงินเท่านั้นจึงจะถือเป็นค่าจ้างตามความหมายของกฎหมายนี้ ดังนั้น หากนายจ้างตอบแทนลูกจ้างเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช้เงิน เช่น รถยนต์ประจำตำแหน่ง หุ้น ยูนิฟอร์ม คอมพิวเตอร์ ไอแพ็ด ไอโฟน เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้ไม่ถือเป็นค่าจ้างตามคำนิยามของกฎหมายนี้

มีข้อควรพิจารณาว่า หากนายจ้างมีข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างว่าจะจัดให้ลูกจ้างมีรถยนต์ประจำตำแหน่ง แต่นายจ้างยังไม่สามารถจัดหารถยนต์ให้ได้ นายจ้างจึงตกลงเช่ารถยนต์ลูกจ้างเองไปก่อน โดยจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือนให้กับลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนแทน กรณีเช่นนี้ถือว่า นายจ้างและลูกจ้างต่างมีข้อตกลงกันชันเจนว่า นายจ้างจะจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้ลูกจ้าง ซึ่งไม่ใช่เงิน แม้ว่านายจ้างจะจ่ายเงินให้ลูกจ้างเป็นค่าเช่ารถยนต์ให้กับลูกจ้างในระหว่างที่รอรถยนต์ประจำตำแหน่งเป็นประจำทุกเดือนก็ตาม เงินจำนวนดังกล่าวก็ไม่ถือเป็นค่าจ้าง

ในทำนองเดียวกัน กรณีที่นายจ้างจัดให้มีสวัสดิการอาหาร ที่พักให้กับลูกจ้าง แม้ว่าต่อมานายจ้างจะจ่ายเป็นเงินแทน เพื่อให้ลูกจ้างไปหาอาหารรับประทานเอง หรือหาที่พักที่ตนเองพอใจ กรณีเช่นนี้ เงินจำนวนดังกล่าวแม้ว่าจะจ่ายเป็นประจำ แน่นอนก็ไม่ถือว่า เป็นค่าจ้างเช่นกัน

เงินที่ลูกจ้างได้รับจะต้องเป็นเงินของนายจ้างเท่านั้น ดังนั้น กรณีบางธุรกิจที่นายจ้างเรียกเก็บทิปจากแขกผู้มาใช้บริการ แล้วนำมาแบ่งกันระหว่างลูกจ้างด้วยกัน เก็บได้เท่าใดแบ่งกันเท่านั้น เงินค่าทิปนี้ไม่ใช่ค่าจ้าง แต่ถ้าเป็นกรณีที่นายจ้างรับประกันกับลูกจ้างจะได้ทิปขั้นต่ำเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน หากนายจ้างเรียกเก็บเงินทิปจากแขกผู้มาใช้บริการได้ไม่พอ นายจ้างก็จะควักกระเป๋าตัวเองจ่ายให้ กรณีเช่นนี้ เงินค่าทิปดังกล่าวจะถือเป็นเงินค่าจ้างทันที

  • จ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง

เงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างนั้นจะต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างเท่านั้น หากเป็นวัตถุประสงค์อื่น อาทิเช่น เป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงาน จูงใจการทำงาน สร้างขวัญกำลังใจ  ทุ่มเทการทำงานให้กับนายจ้างอย่างขยันขันแข็ง เป็นต้น เงินที่จ่ายในลักษณะนี้ไม่ถือเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น

ตัวอย่างกรณีเงินที่ถือว่า จ่ายไปเพื่อตอบแทนการทำงานได้แก่

-ค่าครองชีพ

-ค่าตำแหน่ง เงินค่าครองชีพ กับเงินค่าตำแหน่งต่างมีลักษณะจ่ายเป็นประจำและแน่นอนทุกเดือน จึงถือว่าเป็นค่าจ้าง

– เงินเบี้ยเลี้ยง (กรณีนี้จะต้องพิจารณาว่า ลักษณะงานของลูกจ้างได้เบี้ยเลี้ยงเป็นประจำทุกเดือนหรือไม่  หากลูกจ้างได้เป็นประจำทุกเดือน       เบี้ยเลี้ยงก็จะถือเป็นค่าจ้างด้วย)

-ค่าคอมมิชชั่น กรณีที่ลูกจ้างทำงานเป็นพนักงานขาย รายได้ของลูกจ้างจะมีสองส่วนก็คือเงินเดือนกับค่าคอมมิชชั่นเป็นประจำทุกเดือน แม้ว่าจำนวนค่าคอมมิชชั่นจะไม่เท่ากัน แต่ก็ถือว่า ค่าคอมมิชชั่นเป็นค่าจ้างแล้ว

ตัวอย่างกรณีเงินที่ไม่ถือว่า จ่ายไปเพื่อตอบแทนการทำงาน ได้แก่

-บรรดาเงินสวัสดิการต่างๆที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างเพื่อจูงใจในการทำงานของลูกจ้าง เช่น เงินค่าที่พัก เบี้ยขยัน ค่าเช่าบ้าน (มีระเบียบการจ่ายชัดเจน) เงินเพิ่มจูงใจที่จะได้เมื่อทำยอดขายได้ตามเป้า เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าอาหารกลางวัน โบนัส เบี้ยประชุมกรรมการ เป็นต้น และ

-บรรดาเงินที่นายจ้างจ่ายไปเพื่อช่วยเหลือการทำงานของลูกจ้าง เช่น ค่าน้ำมันรถยนต์ (มีใบเสร็จมาแสดง) เงินค่ารับรองลูกค้า เงินค่าจอดรถ เงินค่าทางด่วน เป็นต้น เงินดังกล่าวไม่ถือเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายไปเพื่อตอบแทนการทำงานให้กับลูกจ้าง

๓ ) จ่ายเพื่อตอบแทนเวลาทำงานปกติ

ค่าจ้างจะต้องเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามเวลาปกติเท่านั้น ดังนั้น บรรดาเงินที่จ่ายตอบแทนนอกเวลาทำงานปกติหรือวันหยุด เช่น ค่าล่วงเวลา หรือค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่ใช่ค่าจ้าง

  • เงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่มีสิทธิได้รับ

เงินดังกล่าวได้แก่ เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี วันลาป่วย วันลาคลอด เป็นต้น ซึ่งวันดังกล่าวนั้น ลูกจ้างไม่ได้ทำงานแต่อย่างใด แต่ในเมื่อกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในวันดังกล่าวแล้ว จึงต้องถือเป็นค่าจ้างด้วย

เมื่อเงินประเภทใดที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างแล้วถือเป็นค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานแล้ว จะต้องตกอยู่ภายใต้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายด้วย ปัจจุบันทุกจังหวัดใช้อัตราเดียวกัน คือวันละ ๓๐๐ บาทต่อวัน สำหรับการคิดคำนวณนั้น นายจ้างจะต้องนำเงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายและถือเป็นค่าจ้างมารวมกันแล้วพิจารณาว่า สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ อย่างไร หากนายจ้างจ่ายไม่ครบอาจต้องโทษอาญาจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้

เรื่องค่าจ้างถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะค่าจ้างจะเป็นพื้นฐานในการคิดคำนวณบรรดาเงินประเภทอื่นที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า  ดังนั้น การที่นายจ้างมีความเข้าใจว่า เงินประเภทใดเป็นค่าจ้างหรือไม่จะส่งผลให้นายจ้างคิดคำนวณเงินประเภทอื่นได้อย่างถูกต้องอีกด้วย หากนายจ้างจ่ายเงินประเภทหนึ่งประเภทใดไม่ถูกต้องแล้ว อาจส่งผลให้นายจ้างจะต้องจ่ายเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ๑๕ ต่อปีและอาจต้องโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้อีกด้วย

    ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์

    ที่ปรึกษากฎหมาย