– การที่หัวหน้ามอบหมายงานที่ไม่สามารถทำได้ให้ลูกน้อง หรือให้ทำงานนอกขอบเขตรายละเอียดของาน (Job Description) เพื่อกลั่นแกล้งให้ลูกน้องทำงานผิดพลาด
– การที่หัวหน้ากดดันการทำงานของลูกน้องทำให้ลูกน้องเกิดความเครียดในการทำงาน
– การที่หัวหน้าเมินเฉยผลงานของลูกน้อง หรือดุด่าว่ากล่าวอย่างรุนแรง เสียงดังเมื่อลูกน้องทำงานผิดพลาดเพียงเล็กน้อย
– การสอบถามเรื่องส่วนตัวของลูกน้องมากจนเกินความจำเป็น
– การที่หัวหน้ามอบหมายงานที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่จำเป็นให้ลูกน้องทำ
– การที่หัวหน้าข่มขู่ลูกน้องว่า หากไม่ทำงานตามที่ตนสั่งแล้วจะถูกลดตำแหน่ง หรือลดผลประโยชน์
– การที่หัวหน้าบังคับลูกน้องให้ไปเที่ยว ดื่มเหล้าหลังเลิกงาน
– การที่หัวหน้าเอาความผิดของลูกน้องไปพูดให้คนอื่นฟังลับหลัง
– การที่หัวหน้าประเมินผลการทำงานของลูกหน้าอย่างไม่ถูกต้อง
-การที่หัวหน้างานเอาความลับส่วนตัวของลูกน้องไปเปิดเผยต่อเพื่อนร่วมงาน เช่น ลูกน้องเป็นโรคที่สังมรังเกียจ หรือมีญาติพี่น้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นต้น
ที่ผู้เขียนกล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างเฉพาะของกรณีการข่มเหงรังแกในการทำงาน (Power Harassment) ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะเห็นเป็นเรื่องข้อกระทบกระทั่งกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจากการทำงานโดยปกติ แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ การกระทำดังกล่าวอาจถือเป็นความผิดอาญา ตามมาตรา ๓๙๗ ซึ่งบัญญัติว่า
“ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำการให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการทำในลักษณะส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”
เมื่อพิจารณาจากกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากเป็นข้อพิพาทในทางแรงงานแล้ว การกระทำความผิดตามมาตรานี้มีความเกี่ยวข้องต่อบรรดาข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างลูกจ้างด้วยกันเอง หัวหน้างานกับลูกน้อง หรือลูกจ้างกับนายจ้าง ดังนั้น การข่มเหงรังแกในการทำงานย่อมอาจเป็นการกระทำความผิดกฎหมายอาญาข้อหา รังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ และจะถือเป็นการกระทำความผิดในบทฉกรรจ์ที่ผู้กระทำความผิดจะต้องรับโทษหนักขึ้นอีกด้วย หากผู้กระทำความผิดเป็นผู้บังคับบัญชา
ความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งหมายถึงความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดที่แม้ผู้กระทำความผิดเองหากกระทำไปโดยไม่เจตนาก็ยังต้องรับโทษ ความผิดลหุโทษนี้เน้นการป้องกันและระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลมิให้ลุกลาม ไม่ให้เกิดการใช้สิทธิของตนที่ก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น ทั้งนี้ เพื่อป้องปราบมิให้ความผิดอาญาขยายหนักเกินเหตุจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
อย่างไรก็ตาม ความผิดลหุโทษถือว่าเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ดังนั้น ความผิดประเภทนี้จึงอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะเปรียบเทียบปรับให้คดีอาญาเลิกกันได้หากเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษจำคุก โดยผู้ต้องหาและผู้เสียหายยินยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับด้วย
เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว หากผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกันแล้วก็จะถือเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที แม้ว่าความผิดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเจตนาของผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่ความผิดลหุโทษนั้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเจตนา ฝ่าฝืนแล้วถือว่าความผิดสำเร็จทันที คงจะต้องรอดูบรรทัดฐานของศาลฎีกาที่จะแปลความการบังคับใช้กฎหมายนี้ต่อไปว่า การกระทำที่จะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องมีระดับความรุนแรงถึงขนาดใดจึงจะถือว่าเป็นความผิด
ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
……………………………………………………………..
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย
ความเห็นล่าสุด