ยังมีลูกจ้างอีกบางกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ห้ามนายจ้างมิให้เลิกจ้างลูกจ้าง หากนายจ้างฝ่าฝืนจะถือเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งการกระทำไม่เป็นธรรมนั้นคืออะไร เกี่ยวกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร รายละเอียดมีค่อนข้างมาก ผู้เขียนจึงขอเขียนเฉพาะที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างเท่านั้น
เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเป็นอย่างดี ผู้เขียนขออ้างอิงกฎหมายประกอบด้วย ดังนี้มาตรา๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ บัญญัติไว้ว่า “ ห้ามมิให้เลิกจ้าง
- เลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน หรือกรรมการสหพันธ์แรงงาน ไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้นัดชุมนุม ทำคำร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดำเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยานหรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือนายทะเบียน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัตินี้หรือต่อศาลแรงงาน หรือเพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานกำลังจะกระทำการดังกล่าว
- เลิกจ้างหรือกระทำการใดๆอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างนั้น เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน
- จากข้อกฎหมายดังกล่าว หากนายจ้างฝ่าฝืนเลิกจ้างลูกจ้าง จะถือว่าเป็นการกระทำไม่เป็นธรรม ซึ่งตามกฎหมาย(๑) เนื้อหาค่อนข้างยาว ดังนั้น จึงขอสรุปให้เข้าใจโดยง่ายคือ
- ลูกจ้างจะต้องถูกเลิกจ้างโดยนายจ้าง หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ ซึ่งหมายถึง การกระทำที่นายจ้างไม่มีอำนาจกระทำได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ชอบ เช่น นายจ้างโยกย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งที่ต่ำกว่าเดิม หรือที่ได้ค่าจ้างน้อยลง
- ผู้ได้รับการคุ้มครองคือ ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงานหรือกรรมการสหพันธ์แรงงาน
- สาเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น นายจ้างจะต้องกระทำโดยมีเจตนากลั่นแกล้งลูกจ้าง ด้วยเหตุดังนี้
- นัดชุมนุม จะต้องเป็นนัดชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การประชุมกรรมการสหภาพแรงงาน การนัดชุมนุมเพื่อยื่นข้อเรียกร้อง เป็นต้น
- การยื่นคำร้อง ไม่ว่าลูกจ้างได้ยื่นคำร้องในเรื่องอันใดเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน หรือเกี่ยวกับองค์การฝ่ายลูกจ้างแล้ว ถือเป็นการยื่นคำร้องทั้งสิ้น
- การยื่นข้อเรียกร้อง มีความหมายกว้างมาก โดยให้รวมถึงการยื่นข้อเรียกร้องที่ชอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย(การยื่นข้อเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีความผิดใดๆ เพียงแต่ทำให้การเรียกร้องไม่มีผลเท่านั้น)
- การเจรจา เจรจาเรื่องใดๆก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับสภาพการจ้าง
- การดำเนินการฟ้องร้อง เป็นพยานหรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือศาลแรงงาน( ศาลอื่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นจะไม่เข้าตามเงื่อนไขข้อนี้)
- ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานกำลังจะกระทำตามการข้อ (๑) ถึง (๕)เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว กรณีที่ลูกจ้างประสงค์จะก่อการตั้งสหภาพแรงงานและอยู่ระหว่างดำเนินการ หากถูกนายจ้างเลิกจ้าง จะไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม แต่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างสามารถฟ้องต่อศาลแรงงานกรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือขอให้ศาลสั่งให้รับกลับเข้าทำงานได้
กรณีตามมาตรา ๑๒๓แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ บัญญัติว่า “ ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงานหรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงานซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว
- ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบโดยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวตักเดือนแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงงานนายจ้างไม่จำต้องว่ากล่าว หรือตักเดือน ทั้งนี้ ข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งนั้นต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวามิให้บุคคลดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง หรือ
- ละทั้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- กระทำการใดๆอันเป็นการยุยง สนับสนุน หรือชักชวนให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาด”
กรณีตามข้อกฎหมายดังกล่าว มีข้อควรพิจารณาคือ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จะต้องเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย สำหรับคำชี้ขาดนั้น จะมีหลายกรณี ได้แก่ คำชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันขึ้นด้วยความสมัครใจตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง คำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือคำวินิจฉัยรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยตามมาตรา ๒๓ การบังคับตามคำชี้ขาดตามาตรา๒๔ และ ๒๕ ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งกฎหมายห้ามมิให้นายจ้างเลิกลูกจ้างประเภทดังกล่าวเว้นแต่จะมีเหตุตาม๑)ถึง๕)ซึ่งคล้ายกับเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือเหตุอื่น เช่นเลิกจ้างเมื่อสัญญาจ้างครบกำหนดระยะเวลา เลิกจ้างเพราะเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างเนื่องจากลูกจ้างไม่สามารถทำงานตอบแทนได้ดี การบอกเลิกสัญญาเพราะเป็นเหตุสุดวิสัย การเลิกจ้างเนื่องจากกิจการของนายจ้างขาดทุน เป็นต้น
สำหรับผลของการกระทำไม่เป็นธรรมนั้น มาตรา ๑๒๔ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ บัญญัติว่า “ เมื่อมีการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๑ มาตรา ๑๒๒ หรือมาตรา ๑๒๓ ผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนอาจยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่ฝ่าฝืน” ดังนั้น ลูกจ้างมีทางเลือกเพียงทางเดียวคือ ยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างต่อคณะกรรมการแรงานสัมพันธ์ภายใน ๖๐ วัน หากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว ลูกจ้างจะไม่มีสิทธินำมาเป็นคดีเพื่อฟ้องร้องต่อศาลแรงงานได้
เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งว่า เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควร
คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่เป็นที่สุด หากนายจ้างไม่เห็นด้วย นายจ้างก็มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนคำสั่งได้ ส่วนฝ่ายลูกจ้าง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม ลูกจ้างก็มีสิทธิดำเนินคดีอาญา และเรียกร้องค่าเสียหายได้ (ลูกจ้างควรจะรอสักระยะหนึ่งว่า นายจ้างตกลงฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือไม่) มีข้อควรพิจารณาว่า หากลูกจ้างใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรมแล้ว ลูกจ้างจะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้อีกหรือไม่ ได้ปรากฏคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๑๕๗/๒๕๔๓ สรุปไว้ว่า “ การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น แม้บทบัญญัติของกฎหมายคือ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘และพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ จะกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวไว้แตกต่างกัน และจะเป็นกฎหมายต่างฉบับกันก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่มีวัตถุที่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างในการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายจ้างเช่นเดียวกัน หากค่าเสียหายจาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นมาจากเหตุของการเลิกจ้างเช่นเดียวกัน ดังนั้น ค่าเสียหายที่กำหนดโดยคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมอยู่ในความหมายของค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วย”
ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมจากนายจ้างนั้น ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิพร้อมกันไปได้ทั้งสองทาง คือฟ้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อให้สอบสวนเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมอีกด้วย เพราะหากผลการสอบสวนปรากฏออกมาว่า นายจ้างผิดจริง ลูกจ้างสามารถดำเนินคดีอาญาได้ด้วย ฝ่ายนายจ้างก็คงจะต้องพิจารณาทุกครั้งหากจะทำการเลิกจ้างลูกจ้างว่า สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร เพราะหากมีความเสี่ยงต่อการเป็นกระทำไม่เป็นธรรมแล้ว อาจถูกฟ้องศาลแรงงานและร้องเรียนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไปพร้อมกันเท่ากับนายจ้างจะต้องรับศึกสองทางเลยทีเดียว
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย
ความเห็นล่าสุด