ในความรับผิดทางแพ่ง กรณีนายจ้างผิดนัดจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และ
ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ นายจ้างจะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี และหากนายจ้างจงใจเบี้ยวจ่าย นายจ้างจะต้องเสียเงินเพิ่มให้กับลูกจ้างในอัตราร้อยละ ๑๕ ของเงินค่าจ้างค้างจ่ายทุกระยะเวลา ๗ วัน หรือเท่ากับอัตราร้อยละ ๗๒๐ ต่อปีเลยทีเดียว
แม้ว่าลูกจ้างจะได้รับความคุ้มครองในทางแพ่งตามที่ผู้เขียนกล่าวมาแล้ว กฎหมายคุ้มครองแรงงานยังเพิ่มความคุ้มครองในทางแพ่งให้กับลูกจ้างอีกชั้นหนึ่ง โดยนำหลักของข้อสัญญาไม่เป็นธรรมมาปรับใช้กับสัญญาจ้างแรงงานด้วย และยังให้รวมถึงข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควรนั้น โดยลูกจ้างจะต้องนำเสนอเอกสารดังกล่าวให้ศาลแรงงานพิจารณาซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี
สำหรับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานในทางแพ่งนั้น ลูกจ้างยังมีศาลแรงงานในฐานะศาลชำนาญพิเศษทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีอีกด้วย โดยใช้หลักสะดวก รวดเร็ว และประหยัด ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาด้วยความรวดเร็ว ลูกจ้างไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฟ้องคดีแรงงานแต่อย่างใด อีกทั้งกระบวนการพิจารณาคดีแรงงานเป็นระบบไต่สวน ศาลสามารถสืบสวนหาความจริงจากพยานได้โดยสอบถามลูกจ้างได้โดยตรง ไม่ต้องใช้ทนายความก็ได้
ซึ่งนั่นก็คือความคุ้มครองในทางแพ่งให้กับลูกจ้าง แต่ที่จริงแล้วโทษทางอาญาที่นายจ้างอาจได้รับก็ถือได้ว่า รุนแรงเช่นกัน มีตั้งแต่โทษปรับหนึ่งหมื่น จนกระทั่งอัตราโทษสูงสุดถึงจำคุกไม่เกินสองปีและ/หรือปรับตั้งแต่สี่แสนถึงแปดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งนับว่า เป็นโทษทางอาญาที่รุนแรงมาก หากนายจ้างจะต้องรับผิดในทางอาญาขนาดนี้
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้กรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล หากการกระทำความผิดนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันมีหน้าที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามความผิดนั้นด้วย หากท่านผู้อ่านพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า ใช่ว่าผู้รับผิดชอบจะเป็นตัวนายจ้าง หรือผู้แทนของนายจ้างเท่านั้น ซึ่งโดยทั่วไปจะเข้าใจว่า บริษัทและกรรมการบริษัท กฎหมายนี้ยังครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นที่ไม่ใช่กรรมการด้วย ดูแล้วตำแหน่งของผู้จัดการฝ่ายบุคคลหรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์น่าจะมีโอกาสต้องร่วมรับผิดกับนายจ้างมากที่สุด
ความผิดอาญาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถือเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ซึ่งหมายความว่า เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นแล้ว นายจ้างกับลูกจ้างไม่สามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ความผิดอาญาไม่ระงับ นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด ดังนี้
๑. นายจ้างจะต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงานเพื่อขอให้ทำการเปรียบเทียบปรับ
๒. เจ้าพนักงานตรวจแรงงานจะทำการสอบสวน หากเห็นว่า นายจ้างสมควรจะถูกเปรียบเทียบปรับ เจ้าพนักงานตรวจแรงานจะทำเรื่องเสนอบุคคลดังต่อไปนี้ เพื่อสั่งเปรียบเทียบปรับต่อไป
- อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย สำหรับความผิดที่ได้เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร
- ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายสำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น
ในการดำเนินคดีอาญากับนายจ้างนั้น ลูกจ้างสามารถดำเนินการได้ ๒ แนวทาง กล่าวคือ ลูกจ้างสามารถยื่นร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานทำการสอบสวนข้อเท็จจริง หากพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนแล้ว เห็นว่า นายจ้างกระทำความผิดจริง ก็จะมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกกฎหมายก่อน หากนายจ้างฝ่าฝืน พนักงานตรวจแรงงานจะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ต่อไป หรือลูกจ้างสามารถเลือกที่จะแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อศาลอาญาโดยตรงก็ได้ โดยลูกจ้างจะต้องเลือกเพียงทางใดทางหนึ่งเท่านั้น
ท่านผู้อ่านได้ทราบบทลงโทษเบื้องต้นทั้งทางแพ่งและอาญากับนายจ้างผู้ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว ผู้เขียนหวังว่า ท่านผู้อ่านที่เป็นฝ่ายนายจ้างจะต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างของท่านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับฝ่ายลูกจ้างนั้น หากถูกนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็สามารถแสวงหาคุ้มครองอย่างถูกวิธีและใช้สิทธิเรียกร้องอย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายครับ
ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
…………………………………………………………………………………………………………………………………….
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย
ความเห็นล่าสุด