เรื่องที่ผู้เขียนอยากจะกล่าวถึงกรณีการปรับโครงสร้างองค์กรนั้นใช่ว่านายจ้างอยู่ในสภาวะการขาดทุนเสมอไป บางสถานประกอบการเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้นายจ้างมีกำไรมากขึ้นก็เป็นไปได้ อย่างเช่นกรณีของซุปเปอร์มาเก็ตชื่อดัง การซื้อขายสินค้าออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ปริมาณการซื้อขายสินค้าในซุปเปอร์มาเก็ตลดลง ดังนั้น เพื่อรองรับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ นายจ้างจึงจำต้องลดจำนวนลูกจ้างลง โดยใช้ศัพท์อย่างเป็นทางการว่า “ปรับโครงสร้างองค์กร” ดังนั้น ในกรณีที่ลูกจ้างยินดีที่จะลาออกโดยดีและรับเงินค่าชดเชยจากนายจ้างไปแล้ว เรื่องนี้คงจบไปด้วยการประนีประนอมยอมความ แต่หากลูกจ้างฮึดสู้นำคดีไปสู่ศาลแรงงาน อ้างว่า ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมและฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ผลจะลงเอยเป็นอย่างไร
ก่อนอื่น ท่านผู้อ่านจะต้องพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเสียก่อน ทั้งนี้ ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและการพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ บัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า การเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”
การเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีของซุปเปอร์มาเก็ตชื่อดังนี้ จะถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากเหตุผลที่นายจ้างใช้ประกอบการเลิกจ้างว่า มีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่ สำหรับกรณีเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น จะต้องมีเหตุผลที่สำคัญที่สุดซึ่งก็คือ นายจ้างจะต้องประสบกับภาวะขาดทุน โดยจะต้องเป็นการขาดทุนจริง มิใช่ขาดทุนกำไร และการขาดทุนนั้นจะต้องถึงขนาดที่ทำให้นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งคำว่า “ถึงขนาด” นั้นจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างองค์กรต้องเป็นการกระทำเพื่อให้บริษัทอยู่รอด หรือเพื่อพยุงธุรกิจให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ปรากฏว่า เป็นการกลั่นแกล้ง หรือมีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างอีกด้วย เช่น เลิกจ้างคนที่ทำงานไม่ดี เก็บคนที่ทำงานดีไว้ หรือยุบหน่วยงานทั้งฝ่ายหรือแผนก แต่เก็บลูกจ้างบางคนไว้โดยโอนไปทำงานที่หน่วยอื่น เป็นต้น
ดังนั้น กรณีของซุปเปอร์มาเก็ตชื่อดังที่กำลังปรับโครงสร้างองค์กรนั้น ฝ่ายลูกจ้างหากประสงค์จะฟ้องคดีกรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนี้คงจะต้องไปตรวจสอบผลประกอบการของนายจ้างของท่านก่อนว่า ขาดทุนหรือไม่ เพียงใด และวิธีการคัดเลือกบุคคลที่ถูกเลิกจ้างว่า ยุติธรรมต่อลูกจ้างทุกคนหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า ควรจะรับข้อเสนอของนายจ้างหรือฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
สำหรับจำนวนค่าเสียหายนั้น เท่าที่ผู้เขียนเคยพบ ศาลจะพิจารณาจากจำนวนปีที่ลูกจ้างได้ทำงาน และเฉลี่ยให้เท่ากับค่าจ้างปีละหนึ่งถึงสองเดือน เช่นลูกจ้างทำงานมาสักสิบปี ก็น่าจะได้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายประมาณสิบเดือนแต่ไม่เกินยี่สิบเดือน เป็นต้น แต่หากลูกจ้างอาศัยโอกาสที่คดีแรงงานนี้เป็นคดีที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาล ใช้ช่องทางนี้เรียกค่าเสียหายจำนวนมากเกินจริง เพื่อกดดันให้นายจ้างเข้ามาเจรจาต่อรองจ่ายค่าเสียหายตามที่ลูกจ้างต้องการ การกระทำดังกล่าวเสมือนเป็นการหลอกใช้ศาลแรงงานเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ใส่ตัว ถือเป็นการมาศาลด้วยมือไม่สะอาด คดีในลักษณะเช่นนี้ ลูกจ้างมักจะแพ้คดีครับ
การต่อสู้คดีเพื่อแก้ต่างเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น มีความละเอียดอ่อนมาก หากใช้ทนายความที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องคดีแรงงาน อาจจะนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลแรงงานได้อย่างไม่เข้าเป้า ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ก็อาจนำไปสู่การพ่ายแพ้คดีความได้
ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com , worasetep@wp-lawoffice.com , www.wp-lawoffice.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย
Recent Comments