ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับการข่มเหงรังแกในการทำงาน (Power Harassment) https://goo.gl/s8JbCt  ปรากฏว่า ได้มีท่านผู้อ่านให้ความสนใจเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนอย่างมากมาย ซึ่งจากคำถามของท่านผู้อ่านทำให้ผู้เขียนพบว่า สังคมการทำงานในประเทศไทยยังเต็มไปด้วยการใช้อำนาจข่มเหงกลั่นแกล้งลูกน้องสารพัด  แม้ว่า ปัจจุบัน ประเทศเราได้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๗ ให้คลอบคลุมถึงกรณีการข่มเหงรังแกนี้ แต่ก็ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อลูกจ้างเข้าไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ก็มักจะถูกปฏิเสธ บ่ายเบี่ยงไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ หรือถ้าจะรับก็แค่เพียงการแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่การร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีจนถึงที่สุด ดังนั้น การมีกฎหมายแต่การบังคับใช้มีสภาพเสมือนคนพิการเช่นนี้ ทำให้ลูกจ้างผู้ถูกข่มเหง รังแกจากหัวหน้างาน ไม่สามารถต่อกรกับหัวหน้างานได้

กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้ให้โอกาสลูกจ้างที่จะร้องทุกข์ หากเกิดปัญหาข้อขัดข้องใดในการทำงาน โดยกฎหมายได้บังคับให้นายจ้างกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการร้องทุกข์ไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน  ลูกจ้างท่านใดประสงค์ที่จะร้องทุกข์เพราะถูกหัวหน้างานข่มเหงรังแก ย่อมสามารถใช้ช่องทางนี้ในการแสวงหาความยุติธรรมได้เช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติจริง หากลูกจ้างใช้สิทธิร้องทุกข์ขึ้นมา แต่ฝ่ายนายจ้างไม่เข็มแข็งพอที่จะตัดสินความอย่างยุติธรรมแล้ว ก็อาจให้ความช่วยเหลือฝ่ายหัวหน้างาน อาจเพราะให้ความสำคัญหัวหน้างานมากกว่าลูกน้อง ผลสุดท้าย ก็คงเป็นการลงโทษสถานเบา แต่ลูกจ้างที่ร้องทุกข์อาจทำงานอยู่กับนายจ้างต่อไปอีกไม่ได้เพราะอาจถูกตามแก้แค้นจากหัวหน้างานก็เป็นได้

แม้ว่าจะมีหลายช่องทางเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกหัวหน้างานข่มเหงรังแก แต่การใช้สิทธิของลูกจ้างไม่ว่าจะในช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็ตาม ต่างก็ต้องการพยานหลักฐานสนับสนุนการกล่าวหาของลูกจ้างทั้งสิ้น แต่บรรดาท่านผู้อ่านที่เขียนมาสอบถามผู้เขียนส่วนใหญ่ประสงค์ที่จะทราบเฉพาะแนวทางการแก้ไขปัญหาของตน แต่ปราศจากหลักฐาน ดังนั้น การจะไปร้องทุกข์ต่อนายจ้างและหรือพนักงานสอบสวน จึงฟังดูแล้วเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนัก หากผิดพลาดขึ้นมา ลูกจ้างอาจถูกฝ่ายตรงข้ามฟ้องกลับในข้อหาแจ้งความเท็จ หรือหมิ่นประมาทได้

การแสวงหาพยานหลักฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ท่านผู้อ่านท่านใด หากถูกข่มเหงรังแกในการทำงาน โปรดอย่านั่งโทษแต่โชคชะตาตัวเองเพียงอย่างเดียว เมื่อท่านตั้งใจลุกขึ้นมาเพื่อที่จะต่อสู้ปกป้องสิทธิของตัวเองแล้ว ขอให้ตั้งสติและพิจารณาก่อนว่า ท่านมีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ หากยังไม่มีแล้ว ท่านจะแสวงหาพยานหลักฐานสนับสนุนเพื่อกล่าวหาหัวหน้างานที่ข่มเหงรังแกท่านได้อย่างไร นอกจากนี้ บรรดาข้อมูลหลักฐานทางอิเล็คทรอนิคก์ ปัจจุบัน กฎหมายก็ให้การยอมรับให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลได้ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าคลิปเสียง คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย อีเมล์ ข้อมูลแชททางโปรแกรมไลน์ วีแชท ว๊อทแอป ต่างสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ทั้งสิ้น ท่านจึงจำต้องรอเวลาที่เหมาะสมจนกว่าหัวหน้างานกระทำการข่มเหง รังแกต่อท่านอีก ท่านจึงฉวยโอกาสนี้เก็บรวบรวมพยานหลักฐานจากการกระทำดังกล่าวให้ได้ เมื่อท่านมีพยานหลักฐานพร้อม ไม่ว่าท่านจะเลือกใช้สิทธิตามแนวทางใด ท่านก็จะสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องปกป้องตัวท่านเองได้ต่อไป

ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ


    ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์  เผือกสกนธ์

                                                                                                                   ที่ปรึกษากฎหมาย