แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้กำลังจะมีผลใช้บังคับ แต่กฎหมายให้ถือว่าหนี้กู้ยืมตามกฎหมาย กยศ เดิมที่ค้างชำระหรือยังไม่ถึงกำหนดชำระเป็นหนี้ที่ผู้กู้ยืมเงินหรือผู้รับทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืนจะต้องชดใช้คืนให้กับ กยศ ตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ กยศ กำหนด ดังนั้น ลูกหนี้ กยศ ตามกฎหมายฉบับเดิมจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติกฎหมายฉบับนี้ด้วย แต่ลูกหนี้ กยศ มีทั้งที่เป็นลูกหนี้ชั้นดีที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระและลูกหนี้ที่ค้างชำระหรือไม่เคยชำระ จะต้องมีการผ่อนจ่ายกันอย่างไร คงต้องติดตามหลักเกฑณ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ กยศ กำหนดอย่างใกล้ชิด
ลูกหนี้ กยศ มีหน้าที่แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน (นายจ้าง) ที่ตนทำงานอยู่ด้วยภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน(สำหรับลูกหนี้ กยศ ที่ได้เริ่มทำงานหลังจากวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ แต่สำหรับลูกหนี้ กยศ ที่อยู่ระหว่างการทำงานเป็นลูกจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องแจ้งนายจ้างเมื่อใด) และยินยอมให้หักเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อชำระเงินคืน กยศ ซึ่งเงินได้พึงประเมินดังกล่าว คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ปัญหาในทางปฏิบัติก็คือ หากลูกจ้างไม่ให้ความยินยอมให้นายจ้างหักเงินแล้ว นายจ้างจะหักเงินได้หรือไม่ อย่างไร
เมื่อลูกจ้างที่ได้กู้ยืมเงิน กยศ ได้แจ้งให้นายจ้างทราบแล้ว นายจ้างมีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเพื่อชำระเงินให้กับ กยศ ตามจำนวนที่ กยศ แจ้งให้ทราบ โดยนำส่งกรมสรรพากรภายในกำหนดระยะเวลานำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยจะต้องหักให้ กยศ เป็นลำดับแรกถัดจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย
วิบากกรรมของนายจ้างก็คือ หากนายจ้างในฐานะผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินไม่ได้หักเงินได้พึงประเมิน หรือหักและไม่ได้นำส่งหรือนำส่งแต่ไม่ครบตามจำนวนที่ กยศ ได้แจ้งให้นายจ้างทราบ หรือหักแต่ได้นำส่งเกินกำหนดระยะเวลาที่กรมสรรพกรกำหนด นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเงินที่ต้องนำส่งในส่วนของลูกจ้างผู้กู้ยืมตามจำนวนที่ กยศ แจ้งให้ทราบ และต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๒ ต่อเดือนของจำนวนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้นำส่งหรือส่งขาดไปแล้วแต่กรณี มันยุติธรรมแล้วหรือที่กฎหมายฉบบนี้ได้ผลักภาระการติดตามหนี้จำนวนมหาศาลมาให้กับนายจ้างที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับลูกจ้างที่เป็นหนี้ กยศ ให้ชำระหนี้คืน หากนายจ้างบกพร่องไม่ได้นำส่งหนี้ กยศ ให้กับกรมสรรพากร กลับกลายเป็นว่า นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในหนี้จำนวนดังกล่าว รวมทั้งต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๒ ต่อเดือนของจำนนเงินที่นายจ้างยังไม่ได้ส่งหรือส่งขาดไปอีกด้วย นอกจากนี้ โปรดอย่าลืมว่า กฎหมาย (มาตรา ๔๖) ใช้คำว่า “ ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๒) แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่ตนทำงานด้วยภายใน ๓๐วันนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน และยินยอมให้หักเงินได้พึงประเมินของตนเพื่อดำเนินการตามมาตรา ๕๑”
ปัญหาที่ควรพิจารณาก็คือ หากลูกจ้างไม่ยินยอมให้หักเงินแล้ว นายจ้างจะทำอย่างไร เพราะหากนายจ้างหักเงินลูกจ้างโดยพลการ นายจ้างจะมีความผิดอาญาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ หากนายจ้างไม่สามารถหักเงินลูกจ้างได้แล้ว นายจ้างยังคงต้องรับผิดชอบชำระหนี้แทนลูกจ้าง หรือจะต้องชำระเงินเพิ่มให้กับ กยศ ด้วยหรือไม่ เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ คงต้องรอพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการของคณะกรรมการ กยศ ต่อไป
ไม่ว่า คณะกรรมการ กยศ จะมีวิธีการอย่างไร ฝ่ายนายจ้างเองคงจะรอไม่ได้ ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อกฎหมาย กยศ ใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว นายจ้างก็จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเอกสารทางกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย กยศ ใหม่นี้ ไม่ว่าการจัดทำหนังสือขอความยินยอมจากลูกจ้าง หรือการแก้ไขปรับปรุงสัญญาจ้างแรงงาน และหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาวิบากกรรมของนายจ้างให้คลี่คลายไปได้
ท่านผู้อ่านท่านใดมีความประสงค์สอบถามปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นใด สามารถเขียนอีเมล์เข้ามาสอบถามผู้เขียนได้ที่ worasetep@gmail.com ผู้เขียนยินดีที่จะตอบปัญหาให้กับท่านผู้อ่านทุกท่านครับ
……………………………………………………………..
ผู้เขียน….นายวรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์
ที่ปรึกษากฎหมาย
Recent Comments